ผู้สูงอายุหูตึง สังเกตได้อย่างไร?

Last updated: 24 ก.พ. 2565  |  319 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผู้สูงอายุหูตึง สังเกตได้อย่างไร?

การสูญเสียการได้ยิน เป็นอีกหนึ่งปัญหาของวัยผู้สูงอายุ เนื่องจากหูชั้นในเกิดการเสื่อมของการได้ยินเพิ่มขึ้นตามอายุ แม้ว่าอาการหูตึงในผู้สูงอายุจะไม่เป็นโรคร้ายแรงอันตราย แต่ด้วยเป็นภาวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้สูงอายุเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลงโดยไม่รู้ตัว อาจจะเกิดปัญหาคนในครอบครัวกับผู้สูงอายุได้ หากรุนแรงอาจปลีกตัวออกจากสังคมเนื่องจากขาดความมั่นใจ  จนเกิดภาวะเครียดและซึมเศร้าในที่สุด

อาการเป็นอย่างไรถึงเรียกว่าหูตึง
 

  • ขอให้ผู้อื่นพูดซ้ำๆ ดังๆ เพราะได้ยินไม่ชัดเจน ได้ยินไม่ครบประโยค มีบางคำขาดหายไป
  • ได้ยินแต่ไม่ทราบว่าพูดอะไร
  • พูดเสียงดังกว่าปกติ
  • เอามือป้องหูไปด้วยในขณะที่ฟังคนอื่นพูด
  • เร่งความดังเสียงโทรทัศน์ วิทยุ หรือฟังเพลงในระดับเสียงมากกว่าปกติ

สาเหตุอาการหูตึงในผู้สูงอายุ?
เกิดจากการเสื่อมและตายของเซลล์ขนรับเสียง (Hair cells) ในหูชั้นใน รวมถึงประสาทบริเวณหูชั้นในค่อยๆ สึกกร่อนหรือฉีกขาดไป เมื่ออายุมากขึ้นจะไม่ได้ยินช่วงเสียงแหลมความถี่สูง จากนั้นความเสื่อมจะค่อยๆ ลามไปถึงช่วงความถี่กลางซึ่งเป็นระดับของเสียงพูด จึงทำให้ผู้สูงอายุเริ่มฟังไม่ชัดเจน โดยเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงของความบกพร่องของการได้ยิน เช่น การรับประทานยาบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้ประสาทหูเสื่อมเร็วขึ้นได้ การเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือด โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น

การป้องกัน และชะลออาการหูตึงในผู้สูงอายุ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเสียงดัง
  • ไม่ใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู ยกเว้นยาที่แพทย์สั่งเท่านั้น
  • ถ้าหากรู้สึกเจ็บหูหรือมีของเหลวไหลออกจากหู ให้ปรึกษาแพทย์ทันที
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น ความดัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินได้
การสื่อสารกับผู้ที่มีอาการหูตึงในผู้สูงอายุ
  • พูดด้านหน้าของผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน
  • ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรืออื่นๆ ที่ทำให้ผู้ฟังมองไม่เห็นรูปปาก
  • พูดเป็นประโยคสั้น กระชับ และช้าลง
  • พูดด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องตะโกน
  • ควรพูดขณะที่มีเสียงรบกวนรอบข้างน้อยที่สุด เช่น เสียงโทรทัศน์
การรักษาอาการหูตึงในผู้สูงอายุ
เนื่องจากปัจจุบันไม่มียารักษาภาวะเสื่อมตามวัยของระบบประสาทหู ดังนั้นในกรณีที่อาการหูตึงในผู้สูงวัยมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจพิจารณาให้ใส่เครื่องช่วยฟัง (hearing aids) ซึ่งช่วยทำหน้าที่เสมือนเครื่องขยายเสียงให้ดังขึ้น โดยใส่ไว้ในช่องหู สามารถถอดเก็บได้และนำมาสวมใส่ได้เหมือนแว่นตา

ฉะนั้น เมื่อพบว่าผู้สูงอายุเริ่มมีอาการหูตึงจากประสาทหูเสื่อมตามวัย ผู้สูงอายุควรระวังและดูแลไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น ด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจเช็คระดับการได้ยิน นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงเสียงดัง และพยายามควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์  ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอและทำจิตใจให้แจ่มใส

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

Call Center : 082-905-9030

Facebook : เครื่องช่วยฟังHearing Care Center

LINE : @Hearingcarecenter

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้